วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาและการใช้นโยบาย

คำถามท้ายบทที่5
การพัฒนาและการใช้นโยบาย
1. ตามความหมายของ นโยบายที่ คูบา ระบุไว้ทั้ง8ความหมายท่านเห็นว่าความหมายใดสำคัญที่สุดเพราะเหตุใด
ตามความหมายของ นโยบายที่ คูบา ระบุไว้ทั้ง8ความหมายข้าพเจ้า เห็นว่า กลยุทธ์(tacticy) ที่นำมาใช้แก้ปัญหาสำคัญที่สุด เพราะ กลยุทธ์(tacticy) ที่นำมาใช้ มาจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน และภายนอก ของสถานศึกษา ที่เป็นจริง
2. นโยบายมีหลายความหมายก็จริงแต่โดยสรุปคือกรอบความคิดเกี่ยวกับอะไร จงอธิบาย
นโยบายมีหลายความหมายก็จริงแต่โดยสรุปคือ กรอบความคิดเกี่ยวกับทิศทาง และแนวดำเนินการที่องค์กรต่างๆ ต้องใช้เป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ
3. ในกระบวนความสำคัญ ของนโยบายทั้งหมดท่านเห็นว่าข้อใดสำคัญที่สุดเพราะเหตุใดจงอธิบาย
ในกระบวนความสำคัญ ของนโยบายทั้งหมดข้าพเจ้าเห็นว่าข้อที่สำคัญที่สุดคือ ความสำคัญต่อการทำงานระยะยาว ยั่งยืน เนื่องจากนโยบายที่ดี ย่อมผ่านการใช้ข้อมูลที่กว้าง ลึก และมองไกลไปในอนาคต ทำให้การกระทำที่ตามมาไม่วกวน แต่เต็มไปด้วยความก้าวหน้า และมั่นคงในระยะยาว แม้ว่าจะมีการเปลี่ยน ผู้บริหารแต่ต้องดำเนินตามนโยบายที่วางไว้ ทำให้การทำงานมีความต่อเนื่อง
4. นโยบายประเภทใดสำคัญที่สุดเพราะอะไรจงอธิบาย
นโยบายประเภทนโยบายพื้นฐานสำคัญที่สุด เพราะ เป็นนโยบายระดับสูงที่มาจากกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อเราโดยตรง และทุกคนต้องปฏิบัติตาม เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฯลฯ และที่ไม่ใช่เป็นกฎหมาย แต่ต้องปฏิบัติเพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ เช่นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และนโยบายต่างๆของรัฐบาล เป็นต้น
5. นโยบายที่อยู่ในสถานะใดที่ส่งผลต่อการปฏิบัติมากที่สุดเพราะเหตุใดจงอธิบาย
นโยบายที่อยู่ในสถานะที่เป็นปรัชญา ส่งผลต่อการปฏิบัติมากที่สุดเพราะ ความเชื่อหรือปรัชญามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์มากที่สุด เช่นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก การก่อการร้ายที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเกิดจากการกระทำที่มาจาก นโยบายที่อยู่ในสถานะที่เป็นปรัชญาทั้งสิ้น
6. นโยบายตามมาตราใดของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยจงยกตัวอย่างมาหนึ่งมาตรา และแสดงแนวทางในการสนองนโยบายมาพอเข้าใจ
ตามมาตราที่ 49 ของรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2550 ให้สิทธิประชาชนได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐให้ได้รับการศึกษาอย่างทัดเทียมกับผู้อื่น แต่ รัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540บัญญัติเรื่องสิทธิในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีอย่างทั่วถึงเช่นกัน แต่ไม่ได้คุ้มครองไปถึงผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ
แนวทางการสนองนโยบายคือ เร่งรัดจัดการศึกษาให้ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับบุคคลอื่น



7. ท่านมีแนวทางดำเนินงานตามมาตรา 43 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540อย่างไร จงอธิบาย เป็นข้อๆ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในมาตรา 43 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามตามที่ กฎหมายบัญญัติ
ข้าพเจ้ามีแนวทางดำเนินงานตามมาตรา 43 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ดอังนี้
1.ขอเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ระดับอนุบาลเป็น 1,700 บาทต่อปี ประถมศึกษา 1,900 บาท มัธยมต้น 3,500 บาท และมัธยมปลาย 3,800 บาท
2.ของบประมาณสำหรับบรรจุครู เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติคืนอัตราเกษียณปี 2550 ทั้งหมด 4 พันอัตราให้ สพฐ.
3.สพฐ.ขอเพิ่มเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานให้เด็กยากจน จากเดิมที่รัฐเคยสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานให้ ร้อยละ 30 ของนักเรียนประถมศึกษาทั้งหมด เป็นร้อยละ 40 ส่วนระดับมัธยมเคยให้ ร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 รวมทั้งเพิ่มวงเงินปัจจัยพื้นฐานด้วย จากระดับประถม460 ต่อปี เป็น 1,000 บาท ระดับมัธยม 2,500 บาทเป็น 3,000 บาท และปรับเพิ่มได้ตามสภาพเป็นจริงตามเศรษฐกิจ
4.จัดซื้อตำราเรียน 5 วิชาหลัก แจกนักเรียน ป.1 ถึง ม.3 ทุกคน
5. จัดงบประมาณสำหรับปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และของบค่าสาธารณูโภค เพิ่มเติมให้ ร.ร. และงบประมาณ มาจ่ายคืนให้ ร.ร.ทั่วประเทศที่ต้องใช้เงินตัวเองจ้างครูเพิ่มเติมด้วย
6. จัดทำสำมะโนนักเรียนประชากรวัยเรียนก่อนประถมศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ได้เข้าเรียน
7. โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำรวจข้อมูล และจัดทำสำมะโนนักเรียนวัยเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับเพื่อเร่งรัดให้เข้าเรียนทุกคน
8. จัดสรรโอกาสให้นักเรียนทุกคนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าเรียนต่อชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน
9. สำรวจข้อมูลที่นักเรียนออกกลางคัน ตกหล่น ให้ความช่วยเหลือ และพาเด็กเข้าเรียนตามสภาพปัญหาและความต้องการ
10. สนับสนุนให้สถานศึกษาจัดแนะแนวการศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ สายอาชีพ
11. ส่งเสริมการฝึกอาชีพให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และเด็กด้อยโอกาส ระดมทุนการศึกษา
12. โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมแก้ไขปัญหานักเรียนเป็นรายกรณี
13. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เช่น ส่งเสริมให้ อปท. จัดการศึกษาปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ และมีบทบาทในการสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็ก และการพัฒนาโรงเรียนในรูปแบบสหกิจ
8. สาระหลักของนโยบายคืออะไร จงอธิบาย
สาระหลักของนโยบายคือ หน้าที่ขององค์กร หรือส่วนงาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับจุดหมาย ทั้งในเชิงปริมาณคุณภาพ และแนวดำเนินการรวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ
9. จงเขียนนโยบายมา1นโยบายพร้อมอธิบายว่าทำไมจึงกำหนดเช่นนั้น
เร่งรัดคุณภาพการศึกษาด้าน การคิดวิเคราะห์ ด้วยการใช้ทฤษฎีการคิดแบบ หมวก 6 ใบ ภายในปีการศึกษา 2551
สาเหตุที่ต้องกำหนดนโยบายนี้เพราะว่า สถานศึกษา ยังจัดการเรียนการสอนยังไม่บรรลุตามมาตรฐานของการศึกษาชาติ หลักสูตรสถานศึกษา และระบบการประกันคุณภาพ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ เช่น การประเมินภายใน และภายนอก ความเชื่อมั่นในการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน
10. มีปัจจัยเพื่อการกำหนดนโยบายอะไรบ้าง ถ้าขาดปัจจัยแต่ละด้าน จะทำให้เกิดผลเสียอะไรจงอธิบาย
ปัจจัยเพื่อการกำหนดนโยบายมี 2 ประเภทคือ
1.ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ และคุณภาพของนโยบาย ถ้าขาดปัจจัยส่วนนี้จะทำให้นโยบายล้มเหลว และส่งผลกระทบต่อองค์กร
2.ปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือบริบท ได้แก่
- การเมือง ได้แก่การได้มาซึ่งอำนาจ และการใช้อำนาจ ในการสนับสนุนโยบาย เช่นสนับสนุนด้าน ทรัพยากร งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ถ้าขาดปัจจัยส่วนนี้จะทำให้นโยบายล้มเหลว หรือขาดประสิทธิภาพ
- เศรษฐกิจ ได้แก่ ฐานะทางด้านงบประมาณของ รัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้ารัฐบาลมีงบเกินดุลย์ ก็สามารถสนับสนุนนโยบายได้ ถ้าขาดปัจจัยส่วนนี้จะทำให้นโยบายล้มเหลว หรือขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากทรัพยากร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริหารงาน นั้นประสบผลสำเร็จ
- สังคมวัฒนธรรม ได้แก่เรื่องของวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ การกำหนดนโยบายต้องไม่ขัดกับวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ ถ้าขาดปัจจัยส่วนนี้จะทำให้นโยบายล้มเหลว หรือขาดประสิทธิภาพ เนื่องจาก คนจะเป็นผู้สนับสนุน หรือต่อต้านก็ได้
-วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างผลผลิต อำนวยความสะดวกให้มนุษย์ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ถ้าขาดปัจจัยส่วนนี้จะทำให้นโยบาย ขาดประสิทธิภาพ
11.มีขั้นตอนในการกำหนด และการนำนโยบายไปใช้อะไรบ้าง อธิบาย
ขั้นตอนในการกำหนด และการนำนโยบายไปใช้มีดังนี้
1.ขั้นตอนการวิจัยนโยบาย เป็นการทำงานเชิงระบบ คือมีการนำข้อมูล ที่ได้มาทำการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย
2.ขั้นตอนการพัฒนานโยบาย เป็นการยกร่างนโยบาย เน้นการมีส่วนร่วม ในรูปแบบของการประชุมปฏิบัติการจัดทำร่าง และนำร่างนโยบายนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ
3.ขั้นตอนการใช้นโยบาย เป็นการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในรูปของ แผนต่างๆ เช่น แผนพัฒนาการศึกษาระดับต่างๆ แผนปฏิบัติการ แผนงบประมาณ การจัดองค์กร และการดำเนินงาน
4.ขั้นการประเมินผล เป็นการประเมินผลก่อนดำเนินการ กำลังดำเนินการ และหลัง ดำเนินการ เพื่อให้แผน อยู่ในความควบคุมให้สมดุล อยู่ตลอดเวลา

12.จงอ่านงานวิจัยการศึกษามา 1 เรื่อง และทดลองกำหนดนโยบาย โดยใช้ข้อมูลนั้นพร้อมอธิบายว่าทำไมจึงกำหนดเช่นนั้น
งานวิจัยเรื่อง บทบาทของประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในการบริหารงานโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรีผู้วิจัย นายสุชิน โภชฌงค์สาขา การบริหารการศึกษาปี พ.ศ. 2547ประธานกรรมการที่ปรึกษา ผศ.สุภาเพ็ญ จริยะเศรษฐ์กรรมการที่ปรึกษา อาจารย์พงษ์ศักดิ์ รวมชมรัตน์กรรมการที่ปรึกษา ดร.พงษ์ศักดิ์ รักษาเพชร
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ของประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เปรียบเทียบบทบาทหน้าที่ของประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษาปัญหาและแนวทาง
แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการบริหารงานโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศึกษาสุพรรณบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี จำนวน 227 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (rating scale) กำหนดคำตอบเป็นข้อความ 5 ระดับซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows version 10.0 สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านอยู่ในระดับมาก 11 ด้าน เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรกดังนี้ ด้านเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน ด้านส่งเสริมให้เด็กทุกคนในเขตบริการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงมีคุณภาพได้มาตรฐาน และ ด้านส่งเสริมให้มีการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ส่วนด้านที่มีการปฏิบัติน้อยกว่าด้านอื่นๆคือด้านแต่งตั้งที่ปรึกษาหรือคณะอนุกรรมการ
ส่วนการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ในระดับปานกลางมี 2 ด้าน เรียงตามลำดับคือ ด้านส่งเสริมให้มีการพิทักษ์สิทธิเด็ก ดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ และด้านกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษา การเปรียบเทียบบทบาทหน้าที่ของประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการบริหารงาน จำแนกตามขนาดสถานศึกษาเล็ก กลาง และใหญ่ โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน แต่ด้านส่งเสริมให้มีการระดม
ทรัพยากรเพื่อการศึกษา และด้านเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาขนาดใหญ่ มีบทบาทมากกว่าประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาขนาดเล็ก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัญหาที่พบมากและแนวทางการแก้ปัญหา ในการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่โดยตรงของประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญมี 3 ประการคือ ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ มีแนวทางแก้ปัญหาคือจัดให้มีการประชุมอบรมสัมมนาให้ความรู้และความเข้าใจ ปัญหารองลงมาคือไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลได้ทั้งหมดเพราะข้อมูลมากเกินไป มีแนวทางแก้ไขโดยจัดทำเอกสารสรุปข้อมูลสาระสำคัญ วางแผนและกำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานให้ชัดเจน และปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานการประชุมคือ คณะกรรมการไม่ กล้าแสดงความคิดเห็น แนวทางแก้ไขคือจัดกิจกรรมให้คณะกรรมการสถานศึกษาร่วมแสดงความคิดเห็นและกล้าแสดงออก
จากงานวิจัยดังกล่าวสามารถกำหนดนโยบายดังนี้ เร่งรัดพัฒนาบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษา ด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ
เนื่องจากคณะกรรมการสถานศึกษา ขาดความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน
13.จงอภิปรายประเด็นต่อไปนี้
- การกำหนดนโยบายรายวัน
หมายถึง การเปลี่ยนแปลง คำสั่ง หรืองานอย่างรวดเร็ว มีส่วนดีคือสามารถที่จะตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างทันที แต่มีส่วนเสียคือ การที่นโยบาย เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น นโยบายรายวัน จะมีปัญหาด้าน การปรับตัง และการต่อต้าน ดังนั้นการกำหนดนโยบาสบรายวันจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่อาจมีผลกระทบต่อองค์กรด้วย
- ความสับสนของนโยบาย
คือกระบวนการกำหนดนโยบายที่ไม่ชัดเจน ขาดข้อมูลทำให้การดำเนินการขาดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
- การขัดข้องของนโยบาย
คือการดำเนินการของนโยบายเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น ติดขัด อาจเป็นในเรื่องของปัจจัยในด้าน ตัวบุคล การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
- การขัดนโยบาย
คือการที่ การดำเนินงาน ไม่สนองตอบกับจุดมุ่งหมาย ของนโยบาย หรือขัดกับกฏหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ นั้น

************************************






ตอบคำถามท้ายบท
บทที่5การพัฒนาและการใช้นโยบาย



โดย
นายทรงชัย เลิศวัฒนาพร
นักศึกษาปริญญาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา
เลขประจำตัว 75079075






เสนอ
ผศ.ดร.ไพโรจน์ อุลิต